สาเหตุรถดับกลางอากาศ เช็กให้ดีทราบให้ชัวร์
การขับรถเป็นประจำทุกวันสร้างความสะดวกสบายได้อย่างมาก แต่หากอยู่ ๆ วันใดรถเสียขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยย่อมทำให้ผู้ใช้งานรถยนต์เกิดอาการตระหนก ยิ่งหากเป็นการขับรถทางไกลหรือถนนทางเปลี่ยวยามค่ำคืนจะยิ่งทำให้ผู้ใช้รถเกิดความกังวลมากขึ้นไปอีก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงได้รับอันตรายจากผู้ไม่หวังดี ดังนั้นมาดูกันว่าสาเหตุที่เครื่องยนต์ดับไปได้เองเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง แล้วมีวิธีการรับมือเบื้องต้นสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร
รถดับกลางถนน สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง
สำหรับสาเหตุที่รถยนต์ดับไปเอง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ที่มักจะถูกพบเจอปัญหาได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งต้นตอเบื้องต้นมีดังนี้
- ที่กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตัน
หากที่กรองน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดอาการตัน อาจส่งผลให้รถเกิดอาการสตาร์ทติดได้ยาก มีความอืด เร่งไม่ขึ้น ทั้งยังสามารถส่งผลให้เครื่องดับขณะวิ่งได้ ควรเช็กและเปลี่ยนทุก 20,000 ถึง 25,000 กิโลเมตร
- อุณหภูมิเครื่องยนต์สูง
อาการเครื่องยนต์ร้อนจัดหรือ Overheat เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ดับลงเองระหว่างทางได้ ซึ่งอาจจะเกิดได้จากปัญหาหม้อน้ำรั่ว ควรมีการตรวจสอบน้ำในหม้อน้ำบ่อยครั้ง รวมไปถึงหน้าปัดรถยนต์ว่าแสดงถึงความร้อนด้วยไฟเตือนหรือเข็มอยู่ที่ตัวอักษร H หรือไม่
- ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก
ลิ้นปีกผีเสื้อมีหน้าที่ในการควบคุมปริมาณอากาศที่ไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ทุกช่วงการทำงานและสภาวะ ซึ่งจะตอบสนองการทำงานตามคันเร่งเป็นหลัก ซึ่งหากลิ้นปีกผีเสื้อสกปรกจะส่งให้รอบเดินเบาต่ำ เครื่องยนต์สามารถดับได้ระหว่างการใช้งาน ควรมีการทำความสะอาดทุก 40,000 ถึง 50,000 กิโลเมตร
- หัวเทียนเก่าเสื่อมสภาพ
หน้าที่ของคอยล์หัวเทียนคือการจุดประกายไฟ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในระบบเครื่องยนต์ ซึ่งหากมีอาการเสื่อมหรือชำรุดจะทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการสะดุด เร่งไม่ขึ้น เครื่องดับขณะขับขี่ได้เช่นกัน
- ปัญหาจากแบตเตอรี่
แบตเตอรี่นับเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ ซึ่งโดยปกติแล้วหากเกิดอาการแบตหมดย่อมทำให้รถสตาร์ทไม่ติดเป็นธรรมดา เช่นเดียวกันหากขั้วแบตเตอรี่หลวม ทำให้ระบบไฟทำงานไม่ครบวงจรจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับได้
- SCV วาล์วเสีย
SCV ย่อมาจาก Suction Control Valve ทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าทางตูดปั๊ม ดังนั้นหาก SCV เสียจะทำให้เกิดอาการรถดับกลางอากาศได้
เครื่องดับกลางอากาศ สตาร์ทไม่ติด ควรมีขั้นตอนอย่างไร
- ตั้งสติเอาไว้ก่อน การขาดสติระหว่างขับรถกลางถนนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง อย่าร้อนรนจนกลายเป็นปัญหาเพิ่มเติม
- หากสตาร์ทกลับมาไม่ติด ควรเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็วรถ ค่อย ๆ ประคองรถเข้าข้างทางให้ได้ หรือหากอยู่ในสถานที่เปลี่ยว ควรสังเกตรอบข้างให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย
- จอดรถให้สนิท เปิดฝากระโปรงรถตรวจสอบอาการเบื้องต้น
- ติดต่อศูนย์บริการหรืออู่ภายในพื้นที่เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือเบอร์โทรฉุกเฉินที่สามารถให้ความช่วยเหลือบนเส้นทางจราจร
ปัญหาเครื่องยนต์ดับไร้ทางแก้ ติดต่อเบอร์ฉุกเฉิน
ทักษะการแก้ปัญหาเบื้องต้นบางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่นเดียวกันกับอาการเครื่องดับกลางทางที่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานหรือศูนย์ความช่วยเหลือฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเบอร์โทรฉุกเฉินที่จำเป็นมีดังนี้
- 1137 – วิทยุ จส.100
- 1146 – กรมทางหลวงชนบท
- 1197 – ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรตำรวจ
- 1644 – สวพ. FM91
- 1193 – ตำรวจทางหลวง
- 1584 – กรมการขนส่งทางบก
- 1586 – สายด่วนกรมทางหลวง
- 1543 – การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
วิธีป้องกันปัญหาเบื้องต้นจาสาเหตุเครื่องยนต์ดับ
ได้รับทราบขั้นตอนข้อควรปฏิบัติและสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเครื่องยนต์ดับกลางทางกันไปแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าการป้องกันปัญหาคือสิ่งที่ช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้นควรตรวจสภาพรถและเช็กในส่วนสำคัญเบื้องต้นให้เรียบร้อย
- ตรวจสอบระดับน้ำมัน
บางครั้งปัญหาพื้นฐานอย่างน้ำมันหมดอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ขับรถลืมสังเกตได้เช่นกัน ควรเติมน้ำมันรถยนต์ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบเชื้อเพลิงด้วย
- ตรวจสอบระบบแบตเตอรี่รถยนต์
อย่าลืมเช็กและตรวจสอบแบตเตอรี่รถยนต์ว่า มีอาการขั้วหลวม ระดับน้ำอยู่ในจุดที่เหมาสม หรือมีคราบขี้เกลือติดอยู่จนทำให้รถสตาร์ทติดได้ยากหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็นได้
- ตรวจสอบระบบหม้อน้ำ
ควรตรวจสอบระบบหม้อน้ำให้เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถยนต์ ตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรมีจุดรั่วไหลเพื่อป้องกันปัญหาโอเวอร์ฮีท
- สังเกตสัญญาณไฟเตือนหน้าปัดรถยนต์
รถแต่ละคันจะมีสัญญาณคอยเตือนปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถคันโปรดของผู้ใช้งานอยู่แล้ว การหมั่นสังเกตจะทำให้รับทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและสามารถเข้าอู่เพื่อแก้ไขได้ทันที ดังนั้นควรสังเกตบ่อยครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ
- ตรวจสภาพรถตามความเหมาะสม
ควรมีการตรวจสภาพหรือเช็กระยะรถยนต์อย่างเหมาะสมตามที่ควรจะเป็น ซึ่งเบื้องต้นบางรุ่นบางยี่ห้องจะต้องตรวจสภาพเมื่อครบ 1,000 กิโลเมตรแรกหรือ 1 เดือน ขณะที่บางส่วนอาจเป็นช่วง 6 เดือนหรือ 10,000 กิโลเมตรแรกนั่นเอง
การใส่ใจสภาพรถของตัวเอง จะช่วยให้การขับขี่รถยนต์ราบรื่นมากขึ้น ลดโอกาสเกิดปัญหาที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานได้ เช่นเดียวกับการเลือกใช้ยางที่ได้คุณภาพอย่าง Pirelli by ATV ที่ช่วยสร้างความมั่นใจทุกการขับขี่ ทั้งยังมาพร้อมประกันยาง “บาด-บวม-แตก” ที่สามารถเคลมฟรี 1 ปี หรือระยะทาง 25,000 กิโลเมตร โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขของบริษัท สามารถติดตั้งได้ที่ B-Quik ทุกสาขา สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อินบอกซ์เฟซบุ๊ก m.me/PirellibyAsiatires